เคยหรือไม่ ขณะเดินอยู่บนถนนดี ๆ ก็มีสุนัขเจ้าถิ่นวิ่งไล่เห่า เห็นแมวข้างถนนดูน่ารักจึงเข้าไปลูบหัวแต่กลับโดนตะปบ หากโดนสุนัขหรือแมวกัดเข้าโดยไม่ได้ตั้งใจจะทำอย่างไร เพื่อให้ปลอดภัยไม่ติดเชื้อ และไม่เป็นพิษสุนัขบ้า บทความนี้มีคำตอบ
หมากัดทำไงดี วิธีจัดการเมื่อสัมผัสสุนัข
ก่อนอื่นอย่าพึ่งตื่นตกใจไป ทำใจให้สงบ
ล้างด้วยน้ำเปล่าสะอาดและฟอกสบู่หลาย ๆ ครั้งทันที หากมีแผลให้ล้างให้ลึกถึงก้นแผล อย่างน้อย 10 นาที แล้วเช็ดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือน้ำเกลือ
จัดการบริเวณที่ถูกสัมผัส โดยขึ้นอยู่กับลักษณะของแผล และความเสี่ยงในการติดเชื้อ
ความน่ากลัวของโรคพิษสุนัขบ้า
โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ํา เป็นโรคติดเชื้อทางระบบประสาทเกิดจากเชื้อไวรัส ชื่อ เรบีส์
(Rabies) ทําให้เกิดโรคได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น คน สุนัข แมว ลิง ชะนี กระรอก ค้างคาว
ฯลฯ โรคนี้ก่อให้เกิดอาการผิดปกติทางระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้มีอาการสับสน วุ่นวาย กระสับกระส่าย อยู่ไม่นิ่ง กลืนลำบาก กลัวน้ำ มีอาการชัก และเสียชีวิต ในปัจจุบันยังไม่มีทางที่จะรักษาโรคพิษสุนัขบ้าได้ เมื่อผู้ป่วยมีอาการจะเสียชีวิตทุกราย
สถิติในช่วงสิบปีที่ผ่านมาพบว่าจำนวนผู้ป่วยลดลงจากหลักร้อยเหลือปีละไม่ถึงสิบคน แต่ก็ยังพบผู้ป่วยพิษสุนัขบ้าอยู่ทุกปี สำหรับในปี 2567 ประเทศไทย มีผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้า 2 ราย โดยที่เสียชีวิตทั้งสองราย สาเหตุเนื่องจากโดนสุนัขกัดมีเลือดออกแต่ไม่ได้ไปพบแพทย์
ความเสี่ยงในการติดเชื้อพิษสุนัขบ้า
ตามองค์กรอนามัยโลก หรือ WHO ได้แบ่งความเสี่ยงในการติดเชื้อพิษสุนัขบ้านั้นตามลักษณะของแผลและความเสี่ยงที่สารคัดหลั่ง น้ำลาย หรือเลือดของสุนัข จะเข้าไปในร่างกายของเรา ดังนี้
Category I สัมผัสโดยผิวหนัง ลูบหัวหมาแมว โดยที่ไม่มีแผล ความเสี่ยงต่ำในการติดเชื้อ แค่ล้างก็เพียงพอ
Category II โดนกัดหรือข่วนเป็นรอยช้ำ รอยถลอก โดนน้ำลาย กินเนื้อสัตว์ดิบที่สงสัยว่าติดพิษสุนัขบ้า ความเสี่ยงปานกลาง ให้ไปรพ. ต้องได้รับวัคซีนพิษสุนัขบ้า
Category III โดนกัดหรือข่วน เห็นเลือดออกชัด ๆ ความเสี่ยงสูง ให้ไปรพ. ต้องได้รับวัคซีนพิษสุนัขบ้า และเซรุ่มอิมมูโนโกลบูลินที่แผล
*ถ้าเคยโดนกัดและเคยฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้ามาก่อน หรือเคยฉีดแบบป้องกัน ก็ต้องรับเข็มกระตุ้น
*วัคซีนจะได้ผลใน 14 วันข้างหน้า ส่วนเซรุ่มออกฤทธิ์ทันที
ความเสี่ยงในการติดเชื้อบาดทะยัก
สาเหตุของบาดทะยักเกิดจากสารพิษที่พบในสปอร์ของแบคทีเรียที่เรียกว่า Clostridium tetani แบคทีเรียเหล่านี้สามารถพบได้ในดิน ฝุ่น และมูลสัตว์ เมื่อสปอร์เหล่านี้เข้าไปในบาดแผลที่มีความลึก จะเติบโตกลายเป็นสารพิษที่ส่งผลทำให้เส้นประสาทเกิดการเสื่อม และยังส่งผลต่อเส้นประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อ ก่อให้เกิดอาการตึงและการกระตุก
การบาดแผลจากสุนัขจึงสกปรกและมีโอกาสทำให้ติดเชื้อบาดทะยักได้ แนะนำให้ฉีดวัคซีนบาดทะยัก หากไม่เคยฉีดมาก่อนเลยก็ต้องฉีดทั้งคอร์ส หากเคยฉีดมาก่อนเกิน 5 ปี ต้องได้รับการฉีดเข็มกระตุ้น โดยทั่วไปคนไทยทุกคนที่ฉีดวัคซีนตามเกณฑ์ตั้งแต่เด็กจะเคยฉีดวัคซีนบาดทะยักมาครบคอร์ส 3 เข็มอยู่ก่อนแล้ว
ความเสี่ยงในการติดเชื้อบริเวณแผล
ในน้ำลายสุนัขและแมวมีเชื้อแบคทีเรีย เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ หากแผลใหญ่/ลึก/อยู่บริเวณมือ/ใบหน้า ก็จะพิจารณาให้กินยาฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ประมาณ 3-5 วัน และทำแผลจนกว่าจะแห้งดี อย่าให้แผลโดนน้ำ หรือใส่อะไรเข้าไปในแผล
สรุปแล้วโดนหมากัดทำไงดี? หากลักษณะการสัมผัสเข้าได้กับ Category II และ III ให้รีบไปสถานพยาบาล คลินิก หรือโรงพยาบาลใกล้ตัว โดยเร็วที่สุด เพื่อทำแผล รับวัคซีน เซรุ่ม และรับยาฆ่าเชื้อ หากปล่อยทิ้งไว้อาจติดเชื้อพิษสุนัขบ้าถึงตาย และแผลติดเชื้อรุนแรงถึงขั้นตัดอวัยวะและติดเชื้อในกระแสเลือดได้ และวัคซีนควรได้รับโดยเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
วัคซีนฉีดอย่างไรบ้าง
วัคซีนพิษสุนัขบ้า ฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าใต้ผิวหนัง ฉีดที่ต้นแขน จะมีสมุดกำหนดการให้ ฉีดทั้งคอร์ส 5 เข็ม วันที่ 0 3 7 14 28 นับจากวันแรกที่ฉีด หากเคยได้รับวัคซีนมาก่อนเกิน 6 เดือน จะฉีดกระตุ้น 2 เข็ม วันที่ 0 3 วัคซีนเหมือนกันทุกที่ทั่วโลก จะไปฉีดต่อที่ไหนก็ได้ ต้องฉีดให้ครบ
เซรุ่มอิมมูโนโกลบูลิน ฉีดที่รอบ ๆ แผลให้ได้มากที่สุด โดยขนาดสูงสุดไม่เกิน 40 IU/kg ควรฉีดภายใน 7 วัน
วัคซีนบาดทะยัก ฉีดเข้าที่กล้ามเนื้อที่ต้นแขน ครบคอร์ส 3 เข็ม หรือหากเคยได้รับมาก่อนเกิน 5 ปี ฉีดกระตุ้น 1 เข็ม
ผลข้างเคียงจากวัคซีน
เนื่องจากทำมาจากสิ่งแปลกปลอมของร่างกาย อาจทำให้มีอาการปวด บวม แดง คัน บริเวณที่ฉีด มีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน และอาการแพ้รุนแรง มีผื่นทั้งตัว หน้าบวม คอบวม หายใจลำบาก ใจสั่น วิงเวียนหรืออ่อนแรง ควรสังเกตอาการ 30 นาทีหลังฉีดวัคซีน
เซรุ่มกับวัคซีน คืออะไร
วัคซีนคือการฉีดเชื้อที่ตายแล้วเข้าไปในร่างกายให้ภูมิคุ้มกันของเราสร้างสารเพื่อป้องกันเชื้อนั้น โดยจะใช้เวลาในการสร้างภูมิ
เซรุ่มคือสารป้องกันพร้อมใช้งานที่เกิดจากวัคซีนที่เอาไปฉีดสิ่งมีชีวิตอื่น แล้วสกัดมาใช้งานแบบออกฤทธิ์ทันที
ทำยังไงกับหมา
ถ้ามีเจ้าของให้เจ้าของกักตัวหมาไว้ 10 วันเพื่อสังเกตอาการ หากสัตว์ตายให้ส่งไปตรวจที่สถานเสาวภาหรือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
อยากเรียกร้องค่าเสียหายจากเจ้าของหมา
ได้ เจ้าของต้องรับผิดชอบ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 377
ผู้ใดควบคุมสัตว์ดุร้าย ปล่อยปละละเลยให้สัตว์นั้นอยู่ลำพัง ในประการที่อาจทำอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557
มาตรา 23 ห้ามมิให้เจ้าของสัตว์ปล่อย ละทิ้ง หรือกระทำการใด ๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควร หากเจ้าของสัตว์หรือผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 22 มาตรา 24 หรือฝ่าฝืนมาตรา 23 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท ตามมาตรา 32 และอาจต้องชดใช้ในความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของสุนัข โดยเจ้าของสุนัขจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่คนที่ถูกสุนัขกัด เนื่องจากการเลี้ยงสุนัขแบบปล่อยปละละเลย ไม่ใช้ความระมัดระวังอันสมควรในการเลี้ยงดู ปล่อยให้สุนัขไปสร้างความเสียหายต่อร่างกายและทรัพย์สินของผู้อื่น ถือเป็นการกระทำประมาทของเจ้าของสุนัข
ดังนั้นเจ้าของอาจต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นค่าสินไหมทดแทน ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์จากการทำงาน หรือ ขาดรายได้ ตามมาตรา 433 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ขอให้ทุกคนโชคดี ไม่โดนหมากัด ปราศจากพิษสุนัขบ้า
ด้วยความปรารถนาดี
แหล่งอ้างอิง
เอกสารให้ความรู้ประชาชนทั่วไปจากสถานเสาวภา
https://saovabha.org/service_saovabha/Information-about-Rabies
Guideline จากสถานเสาวภา ปี 2565 https://saovabha.org/download/mammal%20bite.pdf